“Deepfake” เทคโนโลยี AI กับการนําไปใช้งานในหลากหลายวงการ

“Deepfake” เทคโนโลยี AI กับการนําไปใช้งานในหลากหลายวงการ

“Deepfake” เทคโนโลยี AI กับการนำไปใช้งานในหลากหลายวงการ

ท่ามกลางพัฒนาการของแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เก่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังจากทั้งโลกเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตที่เต็มไปด้วยข้อมูล ทว่านอกจากความชาญฉลาดในด้านการใช้ภาษาตอบโต้ราวกับเป็นมนุษย์แล้ว อีกหนึ่งศักยภาพของเอไอที่น่าจับตาคือพัฒนาการด้านภาพวิดีโอและเสียง ที่พัฒนาไปถึงขนาดที่ว่าปัจจุบันเอไอสามารถสร้างวิดีโอลอกเลียนแบบการกระทำของบุคคลที่ตรงข้ามกับความเป็นจริงหรือ “Deepfake” (หรืออีกชื่อคือ Digital Humans, AI Avatar และ AI Clones) ได้แล้ว

นิยามของเทคโนโลยีดังกล่าวค่อนข้างตรงไปตรงมาคือการที่เอไอจำลองวิดีโอของบุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้นให้กระทำหรือพูดอะไรบางอย่างออกมาตามคำสั่ง (Prompt) ที่ผู้ใช้งานต้องการซึ่งโดยที่ในความเป็นจริงบุคคลดังกล่าวไม่ต้องกระทำการดังกล่าวจริงๆ 

ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่ “บี้ เดอะสกา” โพสต์วิดีโอของตัวเองที่ผสมเข้ากับใบหน้าของ “พิมรี่พาย” เพื่อไลฟ์ขายของผ่านเทคโนโลยี Deepfake ของวิลสัน ซอฟท์แวร์ซึ่งก็สร้างกระแสตอบรับในเชิงบวกเกี่ยวกับพัฒนาการของเอไออย่างน่าประหลาดใจ

หรือในภาคธุรกิจ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ใช้ Generative AI เตรียมเนื้อหาและวิดีโอเพื่อนำเสนอต่อผู้ถือหุ้นโดยบริษัทฯ ใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) เพื่อเทรนข้อมูลลำดับการประชุมในอดีตแล้ว แล้วจึงสั่งให้เอไอเขียนสคริปต์การประชุมครั้งล่าสุด 

ประกอบกับใช้ Generative Video เพื่อสอนให้เอไอเข้าใจรูปแบบการนำเสนอด้วยวิดีโอของการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งก่อนแล้วจึงให้ระบบสร้างวิดีโอแถลงผลการประกอบกิจการครั้งล่าสุดขึ้นมา

ขั้นตอนการสร้าง Deepfake 

ทั้งนี้ ผู้ใช้งานสามารถสร้าง Deepfake ได้ด้วยหลายวิธีแต่ที่พบบ่อยที่สุดคือการใช้โครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึก (Deep Neural Networks) ที่ใช้เทคนิคการสลับใบหน้า (Face-swapping Technique) หรือพูดง่ายๆ ก็คือขั้นตอนแรกผู้ใช้งานต้องมี “วิดีโอเป้าหมาย” เพื่อใช้เป็นพื้นฐานของ Deepfake จากนั้นจึงรวบรวมคลิปวิดีโอของบุคคลที่คุณต้องการแทรกในวิดีโอเป้าหมาย ซึ่งวิดีโอของบุคคลเหล่านั้นอาจไม่เกี่ยวข้องกันโดยสิ้นเชิง 

ในขณะที่วิดีโอเป้าหมายอาจเป็นคลิปจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดหรือวิดีโอของบุคคลที่คุณต้องการแทรกใบหน้าลงไปในภาพยนตร์ หรืออาจเป็นคลิปแบบสุ่มที่ดาวน์โหลดจากแพลตฟอร์มวิดีโอใดๆ ก็ได้

ต่อมาเอไอในแต่ละโปรแกรมจะคาดเดาว่าบุคคลนั้นมีลักษณะอย่างไรจากหลายมุมและเงื่อนไขที่มีทั้งหมด จากนั้นระบบจะจับคู่บุคคลดังกล่าวเข้ากับบุคคลอื่นในวิดีโอเป้าหมายโดยค้นหาคุณสมบัติที่เหมือนกันและสร้างวิดีโอ Deepfake ที่ผู้ใช้งานต้องการออกมา 

นอกจากนี้ที่ผ่านมาผู้พัฒนาพยายามเพิ่ม Machine Learning* อีกประเภทหนึ่งคือ Generative Adversarial Networks (GAN)* ซึ่งจะตรวจจับและปรับปรุงข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในวิดีโอ Deepfake อย่างรอบคอบ ทําให้เครื่องตรวจจับการปลอมแปลงวิดีโอถอดรหัสได้ยากขึ้น

โดยแม้กระบวนการสร้างทั้งหมดจะฟังดูซับซ้อน แต่ซอฟต์แวร์ปัจจุบันก็ค่อนข้างใช้งานง่ายและแอปพลิเคชันปัจจุบันหลายตัวสามารถสร้าง Deepfake ได้เพียงไม่กี่คลิก เช่น แอปพลิเคชันจากจีน Zao, DeepFace Lab, FakeApp, Face Swap, Heygen, D-ID, StableDiffusion, Deepfake-as-a-Service ของ Tencent และสามารถค้นหาซอฟต์แวร์ Deepfake อีกจํานวนมากได้ใน GitHub ซึ่งเป็นชุมชนสำหรับนักพัฒนาแบบโอเพนซอร์ส

ประโยชน์ของเทคโนโลยี Deepfake

1. วงการการพากษ์เสียงและแปลภาษา

เทคโนโลยี Deepfake ยังสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ จำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้งานใช้เทคโนโลยี Deepfake สร้างวิดีโอ ของเดวิด แบ็คแฮม พูดข้อความรณรงค์คําร้องเพื่อยุติโรคมาลาเรียในโครงการ “Malaria Must Die” ซึ่งในวิดีโอแบ็คแฮมพูดสคริปต์ของแคมเปญได้ถึงเก้าภาษาด้วยรูปปากที่ขยับสอดคล้องกับแต่ละภาษาที่พูดอย่างสมบูรณ์

วิดีโอของแบ็คแฮมแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการใช้เทคโนโลยี Deepfake เพื่อการพากย์เสียงภาพยนตร์ การจัดการการเคลื่อนไหวของใบหน้าของนักแสดงที่สามารถทําให้ดูเหมือนว่าพวกเขากําลังพูดประโยคที่พวกเขาไม่ได้กล่าวในชีวิตจริง 

ที่สำคัญแนวคิดนี้อาจนําไปต่อยอดได้โดยใช้เอไอเพื่อควบคุมเสียงของนักแสดงในหลายภาษาแทนการพากษ์เสียงแบบปกติซึ่งก็จะทำให้ได้อรรถรสมากกว่าเพราะได้เนื้อเสียงของบุคคลนั้นๆ มาเป็นต้นฉบับ 

ที่สำคัญปัจจุบันมีเทคโนโลยีเพื่อจัดการด้านเสียงแล้วตัวอย่างเช่น Lyrebird AI ที่ใช้เอไอเพื่อโคลนเสียงพูดของมนุษย์เพียงผู้ใช้งานบันทึกเสียงบุคคลที่ต้องการหนึ่งนาที จับคู่กับเทคโนโลยีของ Deepfake  และสิ่งที่ได้คือ “เครื่องมือพากย์เสียง” ที่มีศักยภาพมหาศาลตามแต่ภาษาที่ผู้ใช้งานต้องการ 

2. วงการภาพยนตร์

การผลิตวิดีโอแบบดั้งเดิมมักต้องทำงานยุ่งเกี่ยวกับการสร้างฉากเสมือจริงซึ่งมีค่าใช้จ่ายสําหรับวัสดุ แรงงาน และความยุ่งยากในการขอใบอนุญาต แต่ด้วยการใช้เทคโนโลยี Deepfake สําหรับวิชวลเอฟเฟกต์ผู้สร้างภาพยนตร์สามารถสร้างฉากและพื้นหลังเสมือนจริงได้อย่างง่ายดาย โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะเข้ามาช่วยให้ผู้สร้างภาพยนตร์เปลี่ยนพื้นหลังและปรับให้เข้ากับบทภาพยนตร์ที่แตกต่างกันโดยไม่มีความท้าทายด้านการขนส่ง แรงงานหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

นอกจากนี้ เทคโนโลยี Deepfake ยังช่วยให้ผู้สร้างภาพยนตร์สามารถจินตนาการถึงสถานการณ์ใหม่ๆ กับนักแสดงที่ไม่สามารถกลับมาแสดงหนังได้อีกแล้ว ตัวอย่างเช่น การปรากฏตัวอย่างน่าประหลาดใจของ ลุค สกายวอล์คเกอร์ ในตอนจบของ The Mandalorian ซีซันสองซึ่งทำให้กลุ่มแฟนคลับท่วมท้นไปตามกัน

ที่สำคัญปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สามารถสร้างร่างโคลนของนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังหรือแม้กระทั่งร่างโคลนดิจิทัลของบุคคลทั่วไปได้อย่างแนบเนียบโดยผ่านการเก็บต้นฉบับบุคคลนั้นในสี่ขั้นตอนคือ บันทึกเสียง การเคลื่อนไหว ใบหน้าทุกมุม และสัดส่วนรูปร่าง ด้วยเครื่องมือสแกนแบบดิจิทัลอย่าง “Dorothy” เพื่อนำต้นฉบับเหล่านั้นไปประกอบกับวิดีโอเป้าหมายและสร้างเป็นคาแรกเตอร์ต่างๆ 

ที่สำคัญอุปกรณ์ถ่ายภาพ 360 องศานี้จะเก็บรูปภาพใบหน้าของบุคคลในเกือบทุกอิริยาบถไม่ว่าจะเป็น ยิ้ม อ้าปาก แลบลิ้น หรือกลอกตาไปมาเพื่อทำให้วิดีโอ Deepfake ที่สร้างขึ้นเสมือนจริงให้มากที่สุดและทุกคำที่ร่างโคลนกล่าวจะขยับด้วยรูปปากที่ถูกต้อง 

3. กลุ่มผู้นำทางความคิด (KOL)

กลุ่มผู้นำทางความคิดจากเทคโนโลยี Deepfake มีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสื่อสารตรงตามสคริปต์ที่ผู้พัฒนาออกแบบไว้รวมทั้งลดต้นทุนด้านบุคลากรและพวกเขาสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

หนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือเทคโนโลยี Deepfake ของ Xiaoice บริษัทซอฟต์แวร์สัญชาติจีนที่สร้างอวตารของ KOL ขึ้นมาไลฟ์ขายของผ่านการป้อนสคริปต์ และออกแบบท่าทางและสีหน้าที่คล้ายมนุษย์อย่างมาก ซึ่ง KOL จาก Deepfake เหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยให้การทำงานในภาคธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการลดต้นทุนของบริษัทฯ และสามารถสร้างการจดจำแบรนด์ผ่านกลุ่มผู้นำทางความคิดซึ่งไม่มีโอกาสที่จะเปลี่ยนงานหรือถูกซื้อตัวเหมือนบุคคลในชีวิตจริง  

4. วงการการศึกษา

ในปี 1963 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดีกําลังเดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์ในเมืองดัลลัส ในสหรัฐ ขณะที่เขาถูกลอบสังหาร ท้ายที่สุดเคนเนดีไม่ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่เขาเตรียมมาทว่าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและพัฒนาการของเอไอปัจจุบันทําให้เราได้ยินถ้อยแถลงจากเคนเนดีได้ในปัจจุบัน โดยทีมงานของ CereProc ได้วิเคราะห์การบันทึกสุนทรพจน์ของเขา 831 รายการเพื่อ "สร้างเสียงเคนเนดี" 

โดยแยกเสียงออกเป็นหน่วยการออกเสียง 116,177 หน่วย ที่สำคัญภารกิจครั้งนี้ค่อนข้างท้าทายเพราะเสียงที่บันทึกถูกสร้างขึ้นบนอุปกรณ์ประเภทต่างๆในเวลาที่ต่างกัน แต่ท้ายที่สุด CereProc ก็สามารถใช้เอไอเพื่อสร้างเสียงพูดที่สมจริงของเคนเนดีออกมาได้อย่างสมบูรณ์

ความสำเร็จครั้งนั้นพิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นไปได้มากมายสําหรับการใช้เทคโนโลยี Deepfake โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษา เช่น ผู้พัฒนาสามารถสร้างวิดีโอใหม่ของบุคคลในประวัติศาสตร์เพื่อออกมาเล่าเรื่องราวของตัวเอง เช่นเมื่อปีที่แล้ว พิพิธภัณฑ์และศูนย์การศึกษาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งรัฐอิลลินอยส์จัดแสดงภาพโฮโลแกรมของผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 15 คนหมุนเวียนกัน ผู้เข้าชมมีโอกาสถามคําถามกับโฮโลแกรมของผู้รอดชีวิต จากวิดีโอต้นฉบับจากกล้องทรงกลมที่บันทึกการสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตซึ่งการสัมภาษณ์แต่ละครั้งใช้เวลาถ่ายทํา 5 วัน

5. วงการธุรกิจ

ภาคธุรกิจคือหนึ่งในกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์จากเทคโนโลยี Deepfake มากที่สุดตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการนำ Generative AI เข้ามาใช้ในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งล่าสุดของเอสซีบีเอ็กซ์อย่างที่เล่าไปตอนต้น 

ทว่ายังมีตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี Deepfake อีกจำนวนมากในภาคธุรกิจ โดยตัวอย่างการใช้งานผ่าน Heygen แพลตฟอร์มสร้างอวตารเอไอ เช่น การใช้อวตารเอไอรายงานผลประกอบการของธุรกิจ, ใช้เทคโนโลยีอวตารเทรนงานพนักงานใหม่, หรือใช้สร้างวิดีโอเพื่อขายงานให้ลูกค้าเป็นต้น ซึ่งข้อดีของเทคโนโลยีดังกล่าวคือการสร้างวิดีโอให้ลูกค้าทีละหลายร้อยหลายพันวิดีโอด้วยเครื่องมือเพียงไม่กี่คลิกเท่านั้น 

Candy.ai
Candy.ai

หนึ่งตัวอย่างการใช้เอไอกับภาคธุรกิจที่น่าสนใจในปัจจุบันคือ ท่ามกลางสังคมที่แยกตัว (Isolated Society) มากขึ้น ดังนั้นช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแอปพลิเคชันหาคู่จึงได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งเมื่อนำแนวคิดเรื่องแอปพลิเคชันหาคู่ผนวกเข้ากับเทคโนโลยี Deepfakeจึงเกิด Candy.ai แพลตฟอร์มที่จำลองอวตารคู่สนทนาเพื่อให้ผู้ใช้งานพูดคุยกับเอไอราวกับพวกเขาเป็นเพื่อนหรือคู่รักกันอย่างสมจริง ซึ่งหากในอนาคตเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้นผู้ใช้งานอาจสามารถโทรคุยโดยใช้เสียงหรือผ่านวิดีโอคอลกับอวตารเอไอเที่ผู้ใช้งานปราถนาและเสมือนจริงมากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจที่หารายได้ผ่านการสอนหรือการเทรนสามารถนำวิดีโอ Deepfake แล้วป้อนคำสั่งเข้าไปและสร้างวิดีโอการเรียนการสอนออกมาโดยเจ้าตัวไม่จำเป็นต้องเข้ามาอัดวิดีโอเองในสตูดิโอด้วย เช่นกรณีที่ผู้พัฒนาทดลองสร้างวิดีโอ Deepfake ของ “แชนซ์ เดอะ แร็ปเปอร์”  ที่มาสอนผู้ชมเกี่ยวกับการทำงานของปัญญาประดิษฐ์เชิงลึก

ด้านมืดของ Deepfake 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เทคโนโลยีดังกล่าวจะสร้างคุณประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ จำนวนมากทว่าในอีกด้านหนึ่ง เทคโนโลยี Deepfake ก็ถูกนำมาใช้จนสร้างความเดือดร้อนมหาศาล เช่นกลุ่มมิจฉาชีพใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสร้างวิดีโอหรือโคลนเสียงของบรรดาเซียนหุ้นในประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือ “ดร.

นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” แล้วนำมาหลอกให้ประชาชนทั่วไปลงทุน

นอกจากนี้ ใจช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามิจฉาชีพจำนวนมากใช้เทคโนโลยี Deepfake เพื่อวัตถุประสงค์ที่ผิดกฎหมาย รวมถึงเพื่อสร้างภาพอนาจารแบบไม่ได้รับความยินยอม จนกระทั่งสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐ ต้องออกประกาศต่อสาธารณะในเดือนมิถุนายน 2023 เพื่อเตือนประชาชนเกี่ยวกับอันตรายของ Generative AI และการใช้งานเครื่องมือเหล่านั้นในการสร้างเนื้อหาโป๊เปลือย ข่มขู่กรรโชกทางเพศบนโลกไซเบอร์ และการล่วงละเมิด

ในปี 2017 ผู้ใช้ Reddit ชื่อ "Deepfakes'' สร้างแอคเคานต์เพื่อเผยแพร่สื่อลามกที่ใช้ใบหน้าของดารานักแสดง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสื่อลามกโดยเฉพาะประเด็นการแก้แค้นผู้อื่นโดยใช้สื่อลามกอนาจาร (Revenge Porn) ก็เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยรายงานของ Deeptrace พบว่า สื่อลามกคิดเป็น 96% ของวิดีโอ Deepfake ที่พบในโลกออนไลน์ในปี 2019

นอกจากนี้ Deepfake ยังถูกใช้สําหรับกิจกรรมทางอาญาที่ไม่ใช่ทางเพศ เช่นในปี 2023 ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี Deepfake เพื่อเลียนแบบเสียงของลูกของสุภาพสตรีท่านหนึ่งเพื่อข่มขู่และรีดไถเธอ

รวมทั้งเทคโนโลยีดังกล่าวยังถูกนํามาใช้ในการเมือง ตัวอย่างเช่น ในปี 2018 พรรคการเมืองของเบลเยียมเผยแพร่วิดีโอของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องให้เบลเยียมถอนตัวจากข้อตกลงด้านสภาพอากาศของปารีส อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ไม่เคยกล่าวสุนทรพจน์นั้น และทั้งหมดเป็นการปลอมแปลง 

เหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นโดนผู้ใช้งานสร้างวิดีโอของผู้นำประเทศอย่าง บารัค โอบามา โดนัลด์ ทรัมป์ โจ ไบเดน หรือวลาดีมีร์ ปูติน พูดในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้พูด ซึ่งประเด็นข้างต้นทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่าเทคโนโลยี Deepfake จะเข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์ของการเมืองทั่วโลกเพราะประชาชนจะต้องตั้งคำถามมากขึ้นว่าเสียง ภาพ และวิดีโอที่พวกเขาเห็นหรือได้ยินนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ 

วิธีตรวจจับ Deepfake 

1. รายละเอียดวิดีโอดูพร่ามัวหรือคลุมเครือหรือไม่? หนึ่งในเทคนิคการตรวจจับ Deepfake คือการสังเกตผิวหนัง เส้นผม หรือใบหน้าที่อาจจะดูพร่ามัวกว่าสภาพแวดล้อมในวิดีโอหรือให้พิจารณาผิวที่ดูนุ่มนวลผิดธรรมชาติ

2. แสงดูไม่เป็นธรรมชาติใช่ไหม? จากในตอนต้นที่อธิบายให้ฟังว่าวิดีโอ Deepfake จะสร้างขึ้นจากวิดีโอตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไป ดังนั้นแสงในแต่ละวิดีโอจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นวิธีการตรวจสอบวิดีโอแบบดังกล่าวคือดูความผิดปกติของทิศทางแสง

3. คําหรือเสียงไม่ตรงกับภาพไหม? เสียงอาจไม่ตรงกับรูปปากของบุคคลในวิดีโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากวิดีโอถูกปลอมแปลงรูปปากและการออกเสียงมักจะไม่ตรงกัน

4. แหล่งที่มาดูน่าเชื่อถือหรือไม่? เทคนิคหนึ่งที่นักข่าวและนักวิจัยมักใช้เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาที่แท้จริงของภาพ ซึ่งสามารถทําได้ทันทีคือการค้นหาภาพย้อนกลับในเว็บอย่าง Google Lenses  รวมทั้งตรวจสอบด้วยว่าใครโพสต์ภาพ โพสต์ที่ไหน และการโพสต์วิดีโอนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ 

อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องการตรวจจับวิดีโอ Deepfake ยังเป็นข้อถกเถียงระหว่างบุคลากรในวงการเทคโลยีเพราะพัฒนาการของเอไอนั้นขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงขนาดที่ว่า นักข่าวจากวอลล์ สตรีทเจอร์นัล สร้างร่างอวตารของตัวเองขึ้นมาแล้วนำร่างดังกล่าวไปทดสอบกับระบบยืนยันตัวตนด้วยเสียง (Voice Biometric) ของระบบธนาคารผ่านการพูดชื่อ นามสกุล และต่อด้วยอีเมลของนักข่าวคนดังกล่าวด้วยร่างอวตาร ท้ายที่สุดเสียงซึ่งสร้างจากเทคโนโลยี Deepfake ก็สามารถผ่านระบบยืนยันตัวตนด้วยเสียงได้

ในประเด็นนี้ทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากกังวลว่าหากในอนาคตระบบปัญญาประดิษฐ์สามารถสร้างร่างโคลนของบุคคลขึ้นมาและสามารถยืนยันตัวตนผ่านระบบจดจำใบหน้า (Facial Recognition) และเสียงไปพร้อมกันอาจเป็นเครื่องมือให้มิจฉาชีพใช้เพื่อทำเรื่องผิดกฎหมายได้ในอนาคต อย่างการหลอกลวงหรือปลอมตัวเป็นบุคคลดังผ่านการโคลนวิดีโอหรือเสียงแล้วหลอกเงินจากประชาชนบริสุทธิ์

มาตรการกำกับดูแล Deepfake

เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากความล้ำหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนออกกฎหมายควบคุมการใช้ Deepfake ประกอบด้วย ต้องได้รับการยินยอมจากบุคคลต้นแบบ, ไม่นำวิดีโอไปใช้เพื่อเผยแพร่ข่าวปลอม, ก่อนสร้างวิดีโอจำลองระบบต้องตรวจสอบยืนยันตัวตนอย่างแน่นหนา, ผู้ผลิตต้องใส่ลายน้ำในวิดีโออย่างชัดเจนว่าเป็นวิดีโอจำลอง,และห้ามสร้างเนื้อหาวิดีโอที่ขัดต่อกฎหมายด้านความมั่นคงของประเทศ​

ในกรณีประเทศไทย นักวิชาการด้านกฎหมายให้ความเห็นว่า สามารถใช้พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับความผิดทางคอมพิวเตอร์ ในมาตรา 14 และมาตรา 16 ที่บัญญัติไว้ว่า การนำภาพบุคคลอื่น ไม่ว่าภาพนั้นจะสร้างขึ้น หรือตัดต่อ หรือเติม หรือวิธีการใด หากนำไปเผยแพร่ต่อและสร้างความอับอายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) เป็นกลุ่มประเทศแรกที่ออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลการใช้งานเอไอในภาพรวม ซึ่งก็เข้ามาควบคุมความกังวลที่จะนำเทคโนโลยี Deepfake มาใช้เพื่อยืนยันตัวตนและทำธุรกรรมต่างๆ แทนบุคคลจริง 

โดยกฎหมาย AI ACT ของอียูออกกฎห้ามหลักๆ ทั้งหมด 6 ข้อคือ ห้ามจดจำลักษณะทางชีวภาพของบุคคล (Biometric Categorisation Systems) ห้ามคัดลอกใบหน้าของบุคคลเพื่อสร้างเป็นฐานข้อมูลในการยืนยันตัวตน (Untargeted Scraping of Facial Images) ห้ามใช้เซนเซอร์ตรวจจับอารมณ์และสีหน้าของบุคคล (Emotion recognition) ห้ามใช้ระบบหักคะแนนความประพฤติจากการจดจำใบหน้า (Social Scoring ) ห้ามใช้เอไอที่สร้างขึ้นมาเพื่อชี้นำการกระทำของมนุษย์และจำกัดเสรีภาพ และห้ามใช้เอไอที่มีจุดประสงค์เพื่อหาประโยชน์จากความไม่สมบูรณ์และความเปราะบางของบุคคล

คำศัพท์เบื้องต้น

  1. Deep Neural Networks = ลักษณะการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ที่เลียนแบบการเรียนรู้ของมนุษย์ผ่านการจดจำข้อมูล ระบบ แบบแผนแบบซ้ำๆ ของชุดข้อมูลที่ได้รับการเทรนเพื่อทำนายข้อมูลที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในอนาคต
  2. Machine Learning = การทำให้เครื่องจักรซึ่งคือคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถเรียนรู้ข้อมูลได้ด้วยตัวเองผ่านการเทรนด้วยข้อมูลมหาศาล
  3.  Generative Adversarial Networks (GAN) คือลักษณะการเรียนรู้และสร้างสื่อของปัญญาประดิษฐ์ผ่านการผสมผสานระหว่างรูปภาพต้นฉบับประกอบเข้ากับการเรียนรู้เชิงลึกของสมองกลแล้วสร้างขึ้นมาเป็น รูปภาพ วิดีโอ หรือเพลงชุดใหม่ขึ้นมา 
Great! Next, complete checkout for full access to The Insiderly AI.
Welcome back! You've successfully signed in.
You've successfully subscribed to The Insiderly AI.
Success! Your account is fully activated, you now have access to all content.
Success! Your billing info has been updated.
Your billing was not updated.