นับตั้งแต่โลกรู้จัก ChatGPT บริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกก็แข่งกันพัฒนา Generative AI กันเต็มไปหมด แต่เวลาพูดถึง AI เรามักจะนึกถึงโปรแกรมจากต่างประเทศ จากบริษัทยักษ์ใหญ่นานาชาติ แต่กลับไม่ค่อยพูดถึง AI ของประเทศไทยเสียเท่าไหร่เลย
อย่างไรก็ตาม ถ้าถาม ดร. กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Entrepreneur Association of Thailand - AIEAT) เขาเชื่อมั่นว่า AI ของไทยจะสู้กับของต่างชาติได้แบบหมัดต่อหมัดแน่นอน เพราะล่าสุดไทยกำลังพัฒนา Large Language Models (LLM) ชื่อ OpenThaiGPT ซึ่งผลการทดลองใช้งานพบว่ามีประสิทธิภาพเก่งกาจไม่แพ้ ChatGPT เลยทีเดียว
Insiderly.Ai จึงถือโอกาสนี้พูดคุยกับ ดร.กอบกฤตย์ ในหลายประเด็น ทั้งความสนใจในเทคโนโลยีโดยส่วนตัว การดำเนินงานของสมาคม AIEAT และ OpenThaiGPT จะช่วยพลิกชะตาของประเทศได้อย่างไรบ้าง ถ้าอยากรู้แล้ว หาคำตอบได้เลยในบทสัมภาษณ์นี้เลย
จากความสนใจคอมพิวเตอร์ในวัยเด็ก สู่การก้าวมาทำธีสิสเรื่อง AI
ดร.กอบกฤตย์ เล่าว่าก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกสมาคม AIEAT ทุกวันนี้ เขาเป็นเพียงเด็กธรรมดาๆ คนหนึ่งที่เริ่มสนใจในเทคโนโลยี เพราะได้เล่นคอมพิวเตอร์ในออฟฟิศของคุณแม่
“สมัยยังเด็ก เวลาผมไปหาคุณแม่ที่ออฟฟิศหลังเลิกเรียน ช่วงแรกก็จะเบื่อๆ ครับ จนกระทั่งเจอคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งที่ไม่มีใครใช้ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นก็ลองเล่นดู แล้วมีพี่นักบัญชีมาสอนว่าใช้อย่างไร พอรู้ว่ามันทำอะไรได้ ก็ชอบและสนใจมาตั้งแต่นั้น ผมเริ่มหาหนังสือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาอ่าน เริ่มเขียนโปรแกรม และเก็บค่าขนมไปซื้อนิตยสารด้านคอมพิวเตอร์ทุกสัปดาห์ด้วยครับ”
จากจุดเริ่มต้นในวันนั้น กลายเป็นความประทับใจที่ยาวนาน ทำให้เขามุ่งมั่นเอาดีในสายนี้เต็มตัว เมื่อโตขึ้นจึงตัดสินใจเข้าเรียนต่อที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือชื่อที่คนจำนวนมากรู้จักกันว่า "วิศวะอินเตอร์ ธรรมศาสตร์"
ช่วงปีแรกๆ นั้นเขาเองยังไม่ได้รู้จัก หรือสนใจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่าง AI เท่าไหร่ จนกระทั่งปี 2007 ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง อดีตนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Association of Thailand - AIAT) ชวนให้เขาทำวิทยานิพนธ์เพื่อหาคำตอบว่า ทำอย่างไรให้ AI สามารถแยกแยะชื่อคนได้ว่าเป็นคนสัญชาติอะไร
และสิ่งที่เจ้าตัวไม่คาดคิดก็คือ งานวิจัยชิ้นนั้นกลายเป็นใบเบิกทางให้เขาหลงใหลในเทคโนโลยีนี้ จนไม่อาจถอนตัวจากวงการได้อีกเลย
นักวิชาการด้าน AI ผู้รู้เรื่องธุรกิจ สู่การผลักดัน AIEAT
หลังจบการศึกษาจาก SIIT เมื่อปี 2008 “นายกอบกฤตย์” ยังสนใจเรื่องเทคโนโลยีเช่นเคย เขาจึงตัดสินใจศึกษาต่อเรื่อยๆ จนจบปริญญาเอกด้านปัญญาประดิษฐ์ สาขาวิทยาการความรู้ จาก Japan Advance Institute of Science and Technology (JAIST) ประเทศญี่ปุ่น คราวนี้เขาทำวิจัยเพื่อค้นหาว่า จะทำอย่างไรให้ AI มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
หลังเรียนจบขั้นสูงสุดแล้ว ตอนแรกเขาตั้งเป้าว่าอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สอนในด้านที่เขาร่ำเรียนมา แต่เส้นทางก็เบี่ยงให้ “ดร.กอบกฤตย์” หันหน้าเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพ ศึกษาเรื่องการทำธุรกิจใน Silicon Valley ก่อนจะกลับมาประเทศไทย แล้วเอาวัฒนธรรม เอาสิ่งที่ได้เรียนรู้มาทดลองทำเอง หนึ่งในงานที่เขาทำคือแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการเรียกรถรับจ้าง ลักษณะเดียวกับ Grab นั่นเอง
เพราะมีความรู้เรื่องธุรกิจ กอปรกับยังรักและสนใจ AI เขาจึงกลายเป็นหนึ่งในโต้โผคนสำคัญของการก่อตั้ง “สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย” หรือ AIEAT เพื่อช่วยยกระดับผู้ประกอบการไทย ให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีล้ำสมัยได้มากที่สุด
ดร.กอบกฤตย์ อธิบายว่า ชื่อของ AIEAT กับ AIAT อาจดูคล้ายคลึงกัน แต่วัตถุประสงค์ของทั้ง 2 สมาคมแตกต่างกันทีเดียว
“AIAT จะโฟกัสเรื่องการสร้างคน สร้างนักวิชาการด้าน AI เป็นหลักครับ แต่เพราะไม่มีใครเชี่ยวชาญด้านธุรกิจเท่าที่ควร อาจารย์หลายท่านเลยเชียร์ให้ผมช่วยจัดตั้งสมาคมใหม่ AIEAT ขึ้นเพื่อโปรโมทและขับเคลื่อนธุรกิจด้านปัญญาประดิษฐ์ในไทย โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพให้ก้าวไปในระดับภูมิภาค และระดับโลกครับ”
“เพราะเราเชื่อว่าต่อไประบบเศรษฐกิจในอนาคตจะเกี่ยวพันกับการใช้ AI อย่างเลี่ยงไม่ได้ ถ้าใครใช้ AI ได้ดี จะช่วยสร้างความแตกต่างทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ เราไม่อยากให้ไทยพลาดโอกาสนี้ และในเมื่อคู่แข่งต่างประเทศมีเยอะ เราจึงต้องช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ไปพร้อมกันครับ” นายกสมาคม AIEAT แถลงไข
ฝันให้ไกล แล้วต้องไปให้ถึง
นับตั้งแต่ก่อตั้ง AIEAT และได้รับตำแหน่งเป็นนายกสมาคม ดร.กอบกฤตย์ เล่าว่าเขาทำงานหลายอย่างเพื่อผลักดันแวดวง AI ไทยให้สู้กับ AI ระดับโลกได้ ทั้งจัดงานเสวนาเพื่อแชร์องค์ความรู้ แชร์ทรัพยากรที่มีประโยชน์ร่วมกัน ไปจนถึงการพูดคุยเพื่อเป็นพันธมิตรกับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เช่น AWS เป็นต้น
แต่ในบรรดางานทั้งหมดที่ขับเคลื่อนมา อาจเรียกได้ว่าการสร้าง LLM ชื่อว่า OpenThaiGPT คือโปรเจกต์ที่ยิ่งใหญ่และท้าทายที่สุดของสมาคม
อธิบายโดยคร่าวๆ OpenChatGPT คือ Gen AI ที่รวบรวมองค์ความรู้ภาษาไทยจากแหล่งข้อมูลต่างๆ มาอยู่ในที่เดียว โดยสมาคมพัฒนาต่อจาก ChatGPT ที่เป็น Opensource และเมื่อพัฒนาได้ที่แล้ว AIEAT ยังเปิดให้ใช้งานได้ฟรี ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ หากใครจะเอาไปปรับปรุงต่อ (Fine-tuning) ให้เป็นเวอร์ชันของตัวเอง หรือรองรับ Service ใหม่ๆ ก็ทำได้เลย เช่น ทำเป็น Chatbot ประจำองค์กร เป็นต้น
ทั้งนี้ ดร.กอบกฤตย์ เล่าว่าช่วงกลางปี 2023 ที่ผ่านมาเพิ่งอัปเดต OpenThaiGPT ขนาด 7 Billion ให้คนไทยได้ลองนำไปใช้กัน และกำลังจะเปิดตัว OpenThaiGPT ขนาด 13 Billion ที่ฉลาดกว่าเดิมเกือบ 2-3 เท่าด้วย
นอกจากนั้น สมาคมก็กำลังเทรน OpenThaiGPT ขนาด 70 Billion ในเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ทำให้เป็น AI ที่ฉลาดที่สุด และจะปล่อยออกมาเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทยทั้งประเทศช่วงต้นปี 2024
“เราเชื่อมั่นว่า OpenThaiGPT จะเป็น AI ภาษาไทยที่ฉลาดที่สุดในโลกครับ และก้าวต่อไปก็คือการพัฒนา LLM ภาษาเพื่อนบ้าน ได้แก่ ภาษาพม่า ลาว กัมพูชา เพื่อให้คนต่างด้าวทั้ง 3 ชาติในไทยได้เอาไปใช้งานด้วย และหากทำได้ล่ะก็ จะทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำในระดับอาเซียน สามารถแข่งขันด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในระดับโลกได้อย่างสมภาคภูมิครับ” นายกสมาคมฯ ตั้งเป้า
AI ที่ดี เกิดจากการบริโภค Data ที่มีคุณภาพ
หลายคนอาจสงสัยว่า ในเมื่อภาษาไทยเป็นภาษาที่มีแต่คนไทยใช้อยู่แล้ว การอวดอ้างว่า OpenThaiGPT คือ AI ภาษาไทยที่ดีที่สุด มันก็ต้องเป็นเช่นนั้นอยู่แล้วรึเปล่า? อย่างไรก็ตามจากที่ดร.กอบกฤตย์ และสมาคม AIEAT ค้นพบนั้น มีหลายประเทศพยายามทำ Gen AI ที่รองรับภาษาไทยด้วย เช่น ประเทศจีน เพื่อตีตลาดในไทยโดยตรง
แต่สมาคมมั่นใจว่าโปรแกรมเหล่านั้นจะไม่มีทางสู้ OpenThaiGPT ได้ เพราะคนไทยรู้ดีกว่าคนชาติอื่นใดว่า จะเข้าถึงแหล่งข้อมูลภาษาไทยคุณภาพจากแหล่งไหนได้บ้าง
“AI ที่ดี เกิดจาก Data ที่มีคุณภาพครับ เมืองนอกอาจไม่รู้ว่า Data ที่มีคุณภาพจริงๆ ในไทยมาจากแหล่งไหน ถ้าเราอยากให้ AI ของเราชนะ เราต้องมี Data คุณภาพสูงกว่า ต้องเก็บรวบรวม ทำความสะอาด (Clean) และเทรน Data ให้ดี ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสชนะครับ ส่วนขนาดสมอง ขนาดของโมเดลเป็นเรื่องสำคัญรองลงมา”
“เช่น ถ้าเราจะเอา AI มาช่วยตอบคำถามเรื่องภาษี เราก็จะให้ AI เรียนรู้ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ให้มันอ่านตัวอย่าง อ่านบทความ แล้ว Fine-tuning ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีได้เลย”
“หรือถ้าจะให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ก็จะให้เรียนรู้จากหนังสือกฎหมายแต่ละแบบ แล้วก็เอาทนายจริงๆ มาให้ฟีดแบ็ค มาช่วยปรับจูนให้ดีขึ้นอีกที ถ้าคำตอบไหน AI ตอบดี ก็จะให้คะแนนสูง คำตอบไหนตอบไม่ดี ก็จะได้คะแนนน้อย แล้วทนายจะช่วยให้ข้อมูลว่าจริงๆ แล้วควรตอบอย่างไร เพื่อให้มันตอบดีขึ้น สามารถใช้งานได้จริงในท้ายที่สุด”
เมื่อ AI เก่งแล้ว คนใช้ก็อย่าลืมเก่งตาม
ยิ่ง AI พัฒนาไปไกลเท่าไหร่ ดร.กอบกฤตย์ มั่นใจว่ามันจะช่วยเพิ่ม Productivity และช่วยแบ่งเบาภาระให้กับมนุษย์ โดยที่เราไม่ต้องลงแรงมากเท่าเดิมแล้ว
“แต่ก่อนเวลาโปรแกรมเมอร์เขียนงานโปรเจกต์หนึ่ง ต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน แต่ต่อจากนี้ AI จะช่วยให้ทำงาน 6 โปรเจกต์จนเสร็จได้ในเวลาแค่เดือนเดียวเท่านั้นครับ” ดร.กอบกฤตย์ เชื่อมั่น
และเมื่อ AI ช่วยเพิ่ม Productivity ช่วยเพิ่มผลผลิตทางธุรกิจ สิ่งที่จะตามมาก็คือ เศรษฐกิจจะดีขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าถูกลงด้วย ผู้คนสามารถจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น กลายเป็นการช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ดีมากในอีกทางหนึ่ง
แต่ในข้อดีก็มีข้อเสีย ดร.กอบกฤตย์ ยอมรับว่า AI จะมาแย่งงานผู้คนแน่นอน
“คนที่ใช้ AI เป็นจะได้เปรียบ บริษัทที่ไม่ปรับตัวจะเสียเปรียบและแพ้ครับ ต่อจากนี้ AI จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ โดยเฉพาะงานที่ต้องทำแบบเดิมซ้ำๆ ซึ่งเป็นงานที่ปัญญาประดิษฐ์ถนัด ทำได้รวดเร็ว ทำได้ตลอดเวลา และมันไม่บ่นด้วย”
“หรือพูดง่ายๆ ก็คือ AI จะมา Disrupt คนที่เป็น Specialist หรือคนที่มีความถนัด ความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง คนที่จะอยู่รอด คือคนที่เป็น Generalist หรือคนที่รู้จักปรับตัวให้มีความถนัดหลายด้านครับ”
เตรียมตัวให้ดี 3-5 ปีจากนี้ AI จะครองโลก!
เมื่อลองให้ ดร.กอบกฤตย์ คาดการณ์ว่า อีก 3-5 ปีข้างหน้านี้ AI จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้อย่างไรบ้าง ดร.กอบกฤตย์ คาดการณ์ว่ามี 5 สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนดังต่อไปนี้
1.จะมีหุ่นยนต์แม่บ้านประจำบ้าน ช่วยงานผู้คนในทุกบ้าน
2.การสื่อสารผ่านคีย์บอร์ดจะหายไป เราจะใช้เสียงและท่าทางมากขึ้น เทคโนโลยีจะยิ่งก้าวกระโดด เกิดอุปกรณ์ไฮเทคใหม่ๆ อีกมากมาย และโลกจะเข้าสู่ Metaverse ของจริง
3.งานง่ายๆ ของมนุษย์จะโดนหุ่นยนต์ทำแทน โดยเฉพาะงานบริการต่างๆ ที่จะใช้งานระบบอัตโนมัติเป็นหลัก
4.การแข่งขันพัฒนาสมองปัญญาประดิษฐ์จะยิ่งดุเดือดขึ้น ราวกับช่วงสงครามเย็นที่หลายประเทศแข่งขันกันไปดวงจันทร์ ทุกประเทศจะทำสมองกลให้เก่งที่สุด เพื่อแสดงแสนยานุภาพให้คู่แข่งได้เห็นและหวาดกลัว
5.โลกจะเปลี่ยนเร็วและแรง เราจะได้สมองกลที่เก่งมากๆ และชนะมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้
หากใครยังลังเลว่า จะใช้งาน AI อย่างไร จะอยู่รอดในอนาคตได้อย่างไร คำแนะนำเดียวที่นายกสมาคม AIEAT มีให้ก็คือ ต้องรีบเรียนรู้ และฝึกใช้งานให้เชี่ยวชาญตั้งแต่ตอนนี้
“ควรฝึกใช้งาน ฝึกทำ Prompt Engineer หรือฝึกป้อนคำสั่งครับ อย่าคิดว่าเราจะทำอะไรได้เร็วกว่า AI เพราะยังไง AI มันเร็วกว่าอยู่แล้ว แม้กระทั่งงานร่างจดหมาย มันช่วยเราเติมเต็มได้ทันที ช่วยลดเวลาได้มากครับ”
“คนไม่รู้จะใช้ยังไง ก็ต้องฝึกใช้ครับ ลองดูเถอะ มันช่วยได้มากกว่าที่คิดแน่นอนครับ” นายกสมาคม AIEAT ทิ้งท้าย