Panel: Future of Computer Vision: Trends and Integration of Computer Vision With Other AI Technologies
Event: SCBX Unlocking AI EP4, Computer Vision: How AI See Things Like We Do
Collaboration: SCBX และ Insiderly.ai
Venue: SCBX NextTech, สยามพารากอน ชั้น 4
Panelists:
ดร.สรรพฤทธิ์ มฤคทัต Senior Researcher, NECTEC
คุณศิวดล มาตยากูร, Co-Founder, Cariva
นพ.ปิยะฤทธิ์ ปิยะฤทธิ์ อิทธิชัยวงศ์ , CEO & Co-Founder, PreceptorAI
ดร. กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร, President, AIEAT
Moderator: คุณวรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง Founder, insiderly.ai
ไม่บ่อยนักที่เมืองไทยจะมีการเสวนาในหัวข้อ Computer Vision ดังนั้นเมื่องาน SCBX UNLOCKING AI: EP4 Computer Vision: How AI See Things Like We Do สามารถรวมตัววิทยากรมากความรู้และความสามารถอย่างดร.สรรพฤทธิ์ มฤคทัต Senior Researcher, NECTEC, คุณศิวดล มาตยากูร, Co-Founder, Cariva, นพ.ปิยะฤทธิ์ อิทธิชัยวงศ์, CEO & Co-Founder, PreceptorAI และคุณกอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร, President, AIEAT ให้มาอยู่บนเวทีเดียวกันได้ มั่นใจได้ว่าเนื้อหาจะต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน
สำหรับหัวข้อที่วิทยากรแต่ละท่านได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันครั้งนี้ว่าด้วย Future of Computer Vision: Trends and Integration of Computer Vision With Other AI Technologies และดำเนินรายการโดย คุณวรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง Founder, insiderly.ai
สาระสำคัญมีเรื่องอะไรบ้าง สามารถติดตามได้จากในบทความนี้
Computer Vision เทคโนโลยีช่วยศึกษาอดีต เปลี่ยนโลก
สำหรับประเด็นแรกที่วิทยากรได้ถกเถียงกันนั้นว่าด้วยประโยชน์ของเทคโนโลยี Computer Vision คุณกอบกฤตย์ อธิบายว่านี่คือเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เข้าใจหลายศาสตร์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานวิทยาศาสตร์ งานสำรวจอวกาศ ไปจนถึงงานประวัติศาสตร์ ทั้งการศึกษาการใช้ภาษาในอดีต และศึกษาการใช้ภาษาของสรรพสิ่งในธรรมชาติ
โดยความรู้ในเรื่องหลังสุดนี้มีผู้ศึกษาเรื่องราวที่น่าสนใจเยอะมาก เช่น การทำความเข้าใจว่าผึ้งสื่อสารกันอย่างไรในรัง ช่วยให้เข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติมากขึ้น และเกิดปัญญาที่มากขึ้นตามไปด้วย
ขณะที่ นพ.ปิยะฤทธิ์ เสริมว่า Computer Vision ทำงานเหมือนกับตาของคนเรา และมาช่วยให้เข้าใจภาพที่เราเห็นไม่ชัดเจนได้มากขึ้น รวมถึงการช่วยให้งานที่เคยน่าเบื่อ ยุ่งยาก ซ้ำซ้อน เช่น งานเอกสาร สามารถเสร็จสิ้นได้ในเวลาที่รวดเร็วกว่าเดิมหลายเท่า มีเวลาไปทำงานสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ มากขึ้นกว่าเดิม
Computer Vision เทคโนโลยีช่วยยกระดับการแพทย์
สืบเนื่องจากการบรรยาย 2 หัวข้อก่อนหน้าที่ว่าด้วยการใช้ประโยชน์ Computer Vision ในทางการแพทย์ แสดงให้เห็นว่ามีนวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมเกิดขึ้นเสมอ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของคนจำนวนมาก หนึ่งในนั้นก็คือเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น
ดร.สรรพฤทธิ์ ยกตัวอย่างว่าย้อนกลับไปประมาณ 6-7 ปีก่อน เคยมีคนเปิดบริษัทเพื่อทำแว่น Google Glass ที่ช่วยคนตาบอดรู้ว่าไฟในห้องเปิดอยู่หรือไม่ เสื้อและกางเกงที่ใส่ในแต่ละวันมีความเข้ากันไหม ซึ่งแค่นี้ก็ถือว่าน่าทึ่งแล้ว
ส่วน นพ.ปิยะฤทธิ์ ให้ความเห็นเพิ่มว่าปัจจุบันมีแอปพลิเคชันชื่อ Be My Eyes ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาได้มองเห็นภาพนิ่งตรงหน้าชัดเจนขึ้น พร้อมเสียงบรรยายประกอบ ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ใช้งานมองเห็นโลกได้สดใสกว่าเดิม สามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติ แต่ลองจินตนาการว่าหากในอนาคตเทคโนโลยีนี้วิวัฒนาการไปอีกขั้น จะน่าตื่นตาเพียงใด
“ในอดีตการจะบอกว่า เทคโนโลยียังบอกยากว่าวัตถุตรงหน้าเราเป็นสุนัขหรือแมว แต่ด้วยงานวิจัยด้าน Image Captioning ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้เกิดพัฒนาการการศึกษาด้านนี้มหาศาล แต่ก็ยังมีความท้าทายรออยู่อีกเยอะ เช่น ถ้าพัฒนาต่อเป็นงานวิดีโอ ภาพเคลื่อนไหว จะทำอย่างไรให้คำอธิบายออกมาเจ๋ง ไหนจะต้องทำคำบรรยายเป็นภาษาต่างๆ ตามมาด้วย”
ถึงเทคโนโลยีช่วยคนไข้วินิจฉัยโรคเองได้ แต่โลกนี้ยังต้องมีหมอ
ว่ากันว่า AI ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาทำให้คนตกงานมากขึ้น บ้างก็บอกว่าคนที่ใช้ AI จะไม่ตกงาน แต่คนที่ไม่ใช้ต่างหากที่จะต้องเผชิญสภาวะนั้น
คำถามที่น่าคิดก็คือ แล้วคนเป็นหมอล่ะ จะมีโอกาสตกงานหรือไม่ หากว่าเทคโนโลยีพัฒนาไปไกลจนถึงขั้นที่คนไข้วินิจฉัยโรคได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญตัวจริง
ดร.สรรพฤทธิ์ คิดว่า มีโอกาสในระดับหนึ่งว่าคนไข้จะสามารถดูแลรักษาตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาหมอ หากเป็นโรคหรืออาการป่วยที่ไม่ร้ายแรงอาการส่วนใหญ่ถ้าไม่ฉุกเฉิน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เวลาหมอรักษาคนไข้ จะไม่แค่ดูภาพเอกซเรย์แล้วให้ยาเลย แต่จะต้องซักประวัติ อาศัยข้อมูลภาพ เสียง ตัวอักษรที่มีความครบถ้วนเพียงพอในการวิเคราะห์ มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหา และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
ส่วนคุณศิวดล มองว่า ถ้าวันหนึ่งมีสิ่งที่ทำให้วินิจฉัยด้วยตัวเองได้จริงๆ ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะน่าจะช่วยแบ่งเบาภาระหมอไปได้บ้าง หรือในอีกทางหนึ่งก็จะช่วยหมอสกรีนคนไข้เบื้องต้นได้ว่า ใครควรรับการรักษาเร่งด่วน ทำให้ผู้ป่วยรู้จักดูแลตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น และไม่ปล่อยให้อาการหนักจนสายเกินกว่าจะช่วยเหลือได้
ทุกการถือกำเนิดของเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ ย่อมมีอุปสรรคขวางกั้น
การจะพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยให้ประสบความสำเร็จแต่ละอย่าง รวมถึง Computer Vision ขึ้นมาได้ ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างเพื่อผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นเวลา เงินทุนสนับสนุน ไปจนถึงข้อมูลที่เพียงพอต่อการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปก็อาจทำให้ไอเดียดีๆ นวัตกรรมที่มีประโยชน์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ในความคิดของ ดร.กอบกฤตย์ มองว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนมีวัฏจักรของมัน แต่สำหรับเทคโนโลยีอย่าง Computer Vision นั้นฝ่าฟันอุปสรรคมาอยู่ในช่วงที่กำลังเติบโตแบบขาขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ 5 ปีที่ผ่านมาเพราะเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ทุกวัน ช่วยแก้ไขฟังก์ชันการทำงานแต่ละส่วนให้มีความแม่นยำขึ้นเรื่อยๆ แม้หลายอย่างยังไม่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เต็มตัว แต่หลายอย่างก็สามารถใช้งานได้จริงแล้ว และน่าจะได้เห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นอีกมากมายนับไม่ถ้วนในอนาคตอันใกล้
ขณะที่คุณศิวดล มองว่าอุปสรรคใหญ่ของงาน Computer Vision มี 2 อย่างด้วยกันดังนี้
1.นำไปใช้งานในชีวิตจริงไม่ได้ เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เพียงพอ เช่น ในแวดวงแพทย์ หากปราศจากข้อมูลของผู้ป่วย ข้อมูลการรักษาคนไข้ การจะพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยชีวิตผู้คนได้ก็จะยากขึ้นตามไปด้วย
2.เกิดกรณีจริงที่มีประโยชน์ทางธุรกิจน้อย Co-Founder จาก Cariva มองว่าองค์กร Startup ที่มีไอเดียดีๆ แต่มีไม่กี่ไอเดียเท่านั้นที่สร้างรายได้ให้กับองค์กรได้ ต่อให้จะมีความคิดสร้างสรรค์ใหญ่โตว่าจะนำ AI มาใช้ยกระดับคุณภาพชีวิต แต่ถ้าไม่สามารถสร้างเงินสร้างทองได้ ก็จะไม่มีใครเอาไปใช้งานต่อ ซึ่งหากเกิดกรณีศึกษาในการใช้งานจริงมากขึ้น คนก็จะได้แรงบันดาลใจ แล้วนำไปพัฒนาสิ่งต่อยอดสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นอีกมากมายตามมา
ส่วนในความคิดของ นพ.ปิยะฤทธิ์ มองว่า หลายคนอาจคิดว่าการไม่มีความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมเป็นเรื่องสำคัญ แต่จริงๆ แล้วอุปสรรคใหญ่หลวงมากกว่าคือการขาดความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ขอเพียงเข้าใจภาษาอังกฤษ ก็จะสามารถสั่งงาน AI และเข้าถึงองค์ความรู้ที่กว้างไกลขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
ดังนั้น ต้องขจัดความกลัวด้านภาษา และกล้าใช้ประโยชน์จากมัน ก็จะมีลู่ทางที่ไปต่อได้อีกมากมาย
อนาคตสุดท้าทาย ที่ใครก็คาดการณ์ไม่ง่าย
ในโลกที่เทคโนโลยีพัฒนาไปเร็ว ชนิดที่แค่ 1 ปีหลายสิ่งหลายอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปมากโขจนตามไม่ทันแล้ว แต่หากให้วิทยากรทุกคนลองคาดการณ์อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งแต่ละคนนั้นให้ความเห็นที่น่าสนใจทีเดียว
เริ่มจาก ดร.สรรพฤทธิ์ มองว่า เมื่อ 1 ปีก่อนมีหลายเทคโนโลยีที่ไม่มีใครเคยใช้มาก่อน แต่ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งแพร่หลาย การจะคาดการณ์ 1 ปีต่อไปจะเป็นอย่างไรอาจจะยากมาก แต่เชื่อว่าการแข่งกันเรื่อง Large Language Model (LLM) จะดุเดือดยิ่งขึ้น เมื่อทุกค่ายพยายามทำให้ออกมาใช้งานง่ายที่สุด ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ยังต้องติดตามกันต่อไป
ส่วนคุณกอบกฤตย์ เสริมว่า หนึ่งในเทคโนโลยีที่ไม่มีใครใช้เมื่อปี 2022 แต่แพร่หลายมากๆ ในปีนี้ก็คือ Generative AI นั่นเอง และไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้รับความนิยมมากขนาดนี้ และในเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา AI วิวัฒนาการไปมาก ก็อาจเป็นไปได้ว่าภายในปี 2030 เราอาจจะได้เห็น AGI หรือ Artificial General intelligence ที่ฉลาดล้ำ สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอให้ใครมาป้อนข้อมูลที่ใช้งานได้จริงก็เป็นได้
CEO & Co-Founder, PreceptorAI เชื่อว่า AI จะช่วยชีวิตคนได้เยอะมาก จากที่คนไข้จะต้องรอคิวทำ MRI นานอย่างน้อย 2 สัปดาห์จึงจะได้รับการวินิจฉัย การมีสิ่งเหล่านี้มากระตุ้นจะส่งผลดีต่อการเติบโตในอนาคตมากๆ และ AI มาช่วยก็จะทำให้ได้เงินมากขึ้น ในเวลาที่เร็วขึ้น ไม่เพียงแค่หมอ แต่ยังรวมถึงคนทุกอาชีพ ดังนั้นถ้าไม่รีบปรับตัวหรือทำอะไรมากกว่าที่ AI ทำได้ตอนนี้ ในเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้าความเสี่ยงที่จะตกงานหรือถูกกลืนหายไปย่อมมากขึ้นหลายเท่า
ขณะที่คุณศิวดล เชื่อว่าอีกไม่นานจะเกิดการ Adoption ในวงกว้าง หรือการที่ทุกคนใช้งาน AI ได้เกิดประโยชน์มากขึ้น เพราะใช่งานง่ายขึ้น ช่วยให้เกิดความรู้สึกดีกับมันมากขึ้น จากที่ไม่เคยอยากใช้ ไม่กล้าใช้ ก็จะกล้าลองใช้มากขึ้น
“เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับ AI ไม่ว่าจะเขียนโปรแกรม โน้ต ทำรีพอร์ต แต่สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือความคิดสร้างสรรค์ เรามี AI ช่วยงาน ร่วมกันสร้างสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน สิ่งที่ยังไม่เคยทำได้ในอดีต ถ้าทำได้ มนุษย์จะอยู่นำหน้า AI แต่ถ้าไม่ เราจะถูกทดแทนด้วย AI และคนที่เก่งในการใช้งาน AI” คุณศิวดลทิ้งท้าย