ถ้าคุณสามารถพัฒนา AI เพื่อนำมาใช้เพื่อยกระดับสังคมได้ คุณจะเอามาใช้ด้านไหน?

แต่ละคนคงมีไอเดียกันคนละแบบ แต่หากถามคุณศิวดล มาตยากูร ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แคริว่า (CARIVA) ประเทศไทย จำกัด บริษัทสตาร์ทอัป ผู้นำด้านการนำสร้างโครงข่ายข้อมูลด้านสุขภาพ เขามีคำตอบเดียวนั่นคือ จะเอา AI มาใช้เพื่อยกระดับวงการสาธารณสุขไทย 

ทำไมเขาถึงอยากยกระดับวงการแพทย์? สิ่งที่ Cariva ทำอยู่นั้นจะช่วยยกระดับสังคมได้ทางไหนบ้าง? สามารถติดตามได้จากบทสัมภาษณ์นี้เลย

ชายผู้มีหุ่นยนต์เป็น Passion

คุณศิวดลเล่าว่าเขาสนใจนวัตกรรมล้ำสมัยมานานแล้ว เริ่มจากความชื่นชอบหุ่นยนต์ โดยเฉพาะหุ่นกันพลา หรือหุ่นยนต์กันดั้มพลาสติกก่อน แล้วความชอบแบบเด็กๆ ก็นำไปสู่ความสนใจเทคโนโลยีอื่นๆ ตามมา ทำให้เขาตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ที่นี่เอง เขาได้เข้าร่วมชมรมหุ่นยนต์ในมหาวิทยาลัย ทำให้ได้รู้จักและเรียนรู้จากรุ่นพี่เรื่องศาสตร์การทำหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (Robotics AI) จนได้ไปแข่งสร้างหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย “โรโบคัพ” และไม่เพียงแค่แข่งในประเทศ เขายังได้ไปแข่งชิงแชมป์โลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ก่อนจะคว้ารางวัลที่ 2 กลับมาครอง

เมื่อมองย้อนกลับไป เขาพบว่าทีมของเขาเป็นเพียงนิสิตระดับปริญญาตรีตัวเล็กๆ ต้องเจอคู่แข่งสายแข็งจากทั่วโลก ที่สำคัญคู่แข่งล้วนกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกด้วย! การที่พวกเขาสามารถคว้ารางวัลนี้มาได้ จึงถือเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจมากทีเดียว

เพราะรู้ตัวเสมอมาว่า “หุ่นยนต์และ AI คือ Passion” ความปรารถนาของคุณศิวดลหลังเรียนจบก็คือการได้ทำงานสร้างหุ่นยนต์เต็มตัว แต่ด้วยความจำเป็นของครอบครัว ทำให้เขาพับความฝันนี้ไว้ก่อน แล้วรีบหางานที่มั่นคงทำเพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวให้ได้ นำมาสู่การทำงานที่บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) ทำงานเป็น Project Engineer อยู่บนแท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่หลายปี

หลายปีต่อมา เมื่อชีวิตเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว ประจวบเหมาะกับ ปตท.สผ. มีแผนจะเปิดบริษัทย่อย AI Robotics Ventures ขึ้นมาพอดี เขาจึงได้ฤกษ์เอาไอเดีย เอาความฝันที่จะสร้างสิ่งประดิษฐ์ล้ำๆ กลับมาปัดฝุ่นใหม่ แล้วนำเสนอให้ผู้บริหาร ปตท.สผ. ได้รับทราบ 

และที่เหลือจากนั้นคือประวัติศาสตร์ เพราะเขาได้กลายเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกบริษัทใหม่ในเครือ ปตท.สผ. เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ทางการแพทย์โดยเฉพาะอย่าง Cariva นั่นเอง

แก้วเปล่าผู้เชื่อมั่นว่า เทคโนโลยีการแพทย์ is Matter 

คุณศิวดลบอกว่ามี 2 เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้เขาอยากพัฒนา AI มาใช้ทางการแพทย์ 

ข้อแรก เขาอยากช่วยชีวิตคนไทย ส่วนข้อที่ 2 เขามองเห็นว่าธุรกิจด้านนี้กำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรงระดับโลก และจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างทันตา

“ตลาดนี้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ล่าสุดมีการ Unlock อะไรหลายอย่างไม่ว่าจะเรื่อง AI หรือเรื่อง Genomics (การศึกษาจีโนม (Genome) ทั้งหมดของสิ่งมีชีวิต) แล้วช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด ผู้คนก็หันมาสนใจเรื่องการดูแลสุขภาพกันเยอะมาก ยิ่งทำให้ตลาดเติบโตขึ้นเยอะเลยครับ ผมเลยคิดว่าเราต้องรีบคว้าโอกาสนี้ไว้ทันที” 

แต่รู้หรือไม่ว่า วินาทีแรกที่เขาตั้งมั่นพา Cariva ยกระดับวงการแพทย์ไทย เขาเองไม่มีความรู้เรื่องการรักษาพยาบาลเลย! ทำให้เขาต้องรีบหาความรู้เพิ่มเติมโดยพลัน เพื่อจะได้ทำงานกับคนในวงการรู้เรื่อง

“สมัยทำงาน สผ. บริษัทส่งผมไปเรียน Innovation Design ที่ MIT (สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์) ที่นั่นเขาสอนให้ทำความเข้าใจธุรกิจต่างๆ จนถ่องแท้ พอเราทำความเข้าใจธุรกิจการแพทย์ลึกขึ้นเรื่อยๆ เรียนรู้จากเพื่อนที่เป็นหมอ เรียนรู้จากบุคลากรทางการแพทย์หลายท่าน ก็พบว่าอุตสาหกรรมนี้มีความเฉพาะเจาะจงสูงมาก เราได้เข้าใจว่าสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องการจริงๆ คืออะไร ทำให้รู้ว่าจะต้องเข้าหาใคร คุยกับใครเพื่อช่วยสร้างนวัตกรรมขึ้นมาให้ได้”

“จากวันแรกที่ผมมาแบบตัวเปล่าเลย พอมองย้อนกลับไปก็พบว่า การเรียนรู้แบบแก้วเปล่าในวันนั้นมีประโยชน์มากๆ ครับ และทำให้ Cariva มีวันนี้ขึ้นมาได้” คุณศิวดลกล่าวด้วยความปลาบปลื้ม

ไม่มีหมอ ไม่มี Cariva ไม่มี AI เพื่อการแพทย์

ปัจจุบัน Cariva ก่อตั้งขึ้นมาครบรอบ 3 ปีแล้ว การออกสตาร์ทช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดพอดี นำมาซึ่งบทเรียนทางธุรกิจที่น่าสนใจ เป็น Insight ที่ต่อยอดธุรกิจได้หลายทางมากๆ

บทเรียนแรกที่คุณศิวดลและทีมเรียนรู้ก็คือ ถ้าอยากสร้าง AI ทางการแพทย์ ต้องมีความรู้ทางการแพทย์ก่อน มิฉะนั้นจะไม่สามารถสร้าง AI ที่มีประสิทธิภาพได้เลย

อาจดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ในสายตาคนจำนวนมาก แต่จริงๆ แล้วมีความสำคัญมาก

“หากจะเอา AI มาใช้งานทางการแพทย์ เราต้องให้แพทย์ช่วยเลือกว่า ควรให้ AI เรียนรู้จากตำราไหน องค์ความรู้ไหนบ้าง คนที่ไม่ได้ทำงานด้านนี้จะไม่มีทางรู้เลยว่า ควรใช้ตำราเล่มไหน และแค่คุยกับแพทย์คนเดียวก็ไม่พอ ต้องคุยกับหลายคนจึงจะเกิดความรอบด้าน ฉะนั้นหากขาดองค์ความรู้ของบุคลากรทุกท่าน เราจะไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้เลยครับ ยิ่งหากมีเงื่อนไขเรื่องเวลาที่จำกัดด้วย”

“ถ้าผมอยากสร้างปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมา โดยไม่ใช้องค์ความรู้ทางการแพทย์ที่สั่งสมมานานหลายปีก็ทำได้ครับ แต่อาจต้องใช้เวลานานถึง 3 ปีกว่าจะประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีความรู้ เราสามารถให้ AI เรียนรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง กลายเป็น Deep Tech ที่รวมองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่ลึกซึ้งได้ในเวลาแค่ 5 เดือนเท่านั้น”

บทเรียนที่ 2 ก็คือ คนไทยมักไม่ค่อยยอมเสียเงินเพื่อดูแลสุขภาพตัวเอง

“สมมติว่ามี AI ที่ช่วยให้คนวินิจฉัยโรคได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องจ่ายเงินแค่ 20 บาท คนไทยก็จะไม่จ่ายครับ หรือถ้าจ่ายได้ก็มีไม่กี่คนเท่านั้นที่ยอม ปัจจุบันคนไทยที่ดูแลสุขภาพตัวเอง ไม่ว่าจะออกกำลังกาย ไปฟิตเนส กินวิตามินถือเป็น Segment ขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แตกต่างจากในยุโรป หรือในสหรัฐอเมริกาที่ทุกคนต้องจ่ายเพื่อมีสุขภาพแข็งแรง” 

“ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายตรงที่ เราจะทำอย่างไรจึงจะอยู่รอดทางธุรกิจได้ เราต้องหาให้เจอว่าใครคือผู้ที่ยอมจ่ายเงินเพื่อสุขภาพที่ดี”

และจากการค้นหาของ Cariva ก็พบว่าแม้จะมีจำนวนน้อย แต่ผู้มีกำลังพร้อมจ่ายนั้นมีหลายเจ้าทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล รวมถึงบริษัทหลายแห่งที่ยอมจ่ายเงินให้พนักงานเข้าถึงการรักษาสุขภาพได้ฟรี เป็นสวัสดิการที่ดึงดูดพนักงานให้อยากมาทำงานด้วย เป็นต้น

และเพราะ Cariva ค้นพบปัจจัยสำคัญนี้ได้เร็ว ก็ทำให้บริษัทสามารถตั้งหลัก แล้วยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงในปัจจุบัน

AI ก็เหมือนรถแข่ง อย่าปล่อยไว้ในมือคนผิด

เมื่อถามถึงการเติบโตของ Cariva ว่ามาถึงจุดใดแล้ว คุณศิวดล บอกว่าปัจจุบันมาไกลพอสมควร นับตั้งแต่วันที่ได้รับการสนับสนุนจาก ปตท.สผ. โดยกำลังอยู่ในช่วงยกระดับ AI ให้เป็น Deep Tech มากขึ้น ด้วยการร่วมมือกับแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช เพื่อช่วยพัฒนา AI ทางการแพทย์ ให้ยกระดับสุขภาพคนไทยได้จริง 

“เราร่วมมือกันพัฒนาโมเดลที่มีชื่อว่า Multimodal Analysis เราตั้งใจสร้าง AI เพื่อช่วยคุณหมอวินิจฉัยโรคในโรงพยาบาลให้แม่นยำขึ้น และผิดพลาดต่ำครับ AI จะช่วยวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มหาศาล เพื่อช่วยหมอหาสิ่งที่อาจจะหาไม่เจอ หรือต้องใช้เวลามากๆ เพื่อทำให้เกิด Personalized Care หรือการเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคนมากที่สุด”

ถึง AI จะดูเก่งกาจมากแค่ไหน แต่ผู้ร่วมก่อตั้ง Cariva ยืนยันว่า อย่างไรเสียก็ต้องมีแพทย์เป็นผู้รักษาคนไข้อยู่ดี และไม่ควรให้ใครที่ไหนเอา AI ไปใช้งานง่ายๆ ด้วย

“AI เหมือนกับรถแข่ง Formula 1 ครับ แล้วแพทย์ก็คือนักแข่งรถมืออาชีพ ถ้าเราเอารถ F1 ไปให้คนทั่วไปขับ มันอาจเกิดอันตรายได้ เราค่อนข้างระมัดระวังว่าต้องให้แพทย์เป็นผู้ใช้งานหลักเท่านั้น เราต้องยึดหลักการ Put the Right AI on the Right คนขับ”

อีกเรื่องที่ต้องระวังก็คือ AI ที่ถูกเทรนด้วยองค์ความรู้จากต่างประเทศ จะไม่สามารถนำมาใช้กับบริบทของสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เช่น เวลานำผลเอกซเรย์ร่างกายคนไทยไปวิเคราะห์ จะพบว่าร่างกายชาวตะวันตกมีสรีระไม่เหมือนคนชาติตะวันออก ทำให้ข้อมูลจะผิดหรือเอามาใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นก่อนใช้งานเราจะต้องปรับจูนให้เหมาะสมกับข้อมูลคนไทยที่มี อย่าอิมพอร์ตมาทั้งหมดโดยไม่ปรับใช้ครับ”

“หรือไม่ต้องเป็นเรื่อง AI ก็ได้ แต่โรคบางโรคมีแค่ในบางพื้นที่เท่านั้น บางทีคนไทยกับคนต่างชาติป่วยด้วยโรคเดียวกัน แต่หมอไทยกับหมอต่างชาติจ่ายยาไม่เหมือนกัน แต่ละพื้นที่ถึงมี Medical Guideline ที่ผ่านการปรับให้เหมาะสมกับบริบทการรักษาคนในแต่ละชาติครับ”

ประเด็นต่อมาที่เขากังวลก็คือ คนจะกลัวการใช้ AI และนำ AI มาใช้ไม่เป็น รวมถึงหากมีองค์กรไหนออกคำสั่งห้ามใช้ มันจะทำลายโอกาสที่จะทำให้ประเทศไทยแข่งขันกับชาวบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ

“อย่าลืมว่า คนทั่วโลกเขาใช้ AI กันหมด ถ้าเราเป็นประเทศเดียวที่ไม่ใช้ เราจะไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ หรือสู้กับใครอย่างทัดเทียมได้เลย และเราต้องใช้เป็น ใช้อย่างระมัดระวัง อย่าคิดว่ามันเป็นของเล่นครับ ขอย้ำอีกครั้งว่า AI ก็เหมือนรถแข่ง F1 ถ้าเราเข้าใจที่มาที่ไป รู้วิธีสั่งการว่าต้องทำอย่างไรจึงจะได้คำตอบที่แม่นยำที่สุด มันก็จะไม่เกิดเรื่องผิดพลาดตามมา” ผู้ร่วมก่อตั้ง Cariva ยืนยัน

คาดการณ์อนาคต Medical Tourism คือโอกาสของสังคมไทย

เมื่อถามถึงอนาคตภายหน้าว่า การเอา AI มาใช้ทางการแพทย์จะเติบโตไปเช่นไรบ้าง คุณศิวดลมองว่าปัจจุบันนี้ AI ที่พัฒนาในเมืองไทยกำลังแข็งแกร่งและเติบโตขึ้นมาก ไม่เพียงแค่ของ Cariva เท่านั้น และจะเทียบชั้น AI จากต่างประเทศได้แน่นอนในอนาคตอันใกล้

“ผมคาดว่าอีกไม่เกิน 3-5 ปีข้างหน้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือ Personalize Care ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากการเติบโตของ AI อีกอย่างที่จะมาก็คือการตรวจพันธุกรรมที่ AI จะทำให้ง่ายขึ้น แพร่หลายมากขึ้น ได้รู้ความเสี่ยงของการจะป่วยเป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง มากขึ้นครับ”

ประเด็น Medical Tourism ก็เป็นอีกสิ่งที่ผู้ก่อตั้ง Cariva คาดการณ์ไว้เช่นกันว่าจะเกิดขึ้น หรือจริงๆ มันเกิดขึ้นแล้วด้วยซ้ำ เพราะทุกวันนี้มีชาวต่างชาติเข้ามาตรวจสุขภาพ หรือเข้ารับการรักษาโรคต่างๆ ในไทยเยอะมาก ไม่ว่าจะโรคเล็กน้อยหรือโรคร้ายแรง เพราะค่ารักษาที่ไทยถูกกว่าหลายเท่า

และหากได้รับการสนับสนุนถูกทาง จะทำให้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมเติบโตสูงขึ้นหลายเท่า

ดังนั้น แพทย์คนไหนที่ยังไม่เคยใช้งาน AI เลย คุณศิวดลให้คำแนะนำว่าควรต้องเริ่มศึกษา และลองเอามาใช้งานอย่างน้อยก็ขั้นพื้นฐานได้แล้ว มิฉะนั้น แพทย์ที่ไม่เคยใช้งานจะถูกแทนที่ด้วยแพทย์ที่ใช้งาน AI เป็น

แต่หากยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เคล็ดลับง่ายๆ คือดูความน่าเชื่อถือของผู้พัฒนา AI นั้นก่อนว่า มีประสบการณ์อย่างไร มีความร่วมมือกับใครบ้าง หากผู้พัฒนาได้ทำงานร่วมกับแพทย์ที่เก่ง มีความเชี่ยวชาญมากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสว่า AI ชนิดนั้นจะช่วยแบ่งเบางานของแพทย์นั้นง่ายขึ้น และรักษาคนไข้ได้อย่างแม่นยำขึ้นตามมา

และหากใครคิดว่า Cariva มีความน่าเชื่อถือจากการร่วมพัฒนา AI กับโรงพยาบาลศิริราช คุณศิวดล ก็ยินดีอย่างยิ่งที่จะเข้าไปให้คำแนะนำโดยตรง ถ้าใครที่สนใจอยากใช้งาน ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้เลย

“หากมีสิ่งใดที่ผมและองค์กรสามารถช่วยยกระดับวงการสาธารณสุขไทยให้ดีขึ้นได้ ผมก็พร้อมจะสนับสนุนทุกคนจนสุดทางครับ” ผู้ร่วมก่อตั้ง Cariva ทิ้งท้าย

Great! Next, complete checkout for full access to The Insiderly AI.
Welcome back! You've successfully signed in.
You've successfully subscribed to The Insiderly AI.
Success! Your account is fully activated, you now have access to all content.
Success! Your billing info has been updated.
Your billing was not updated.