งาน SCBX Unlocking AI EP 10: Responsible AI in Action: From Regulation to Real-World Impact
ทุกคนน่าจะเคยเจอคำถามว่า “AI จะมาแทนคนได้หรือไม่” และ “คนที่ใช้ AI เป็น จะมาแทนคนที่ใช้ AI ไม่เป็นได้จริงหรือไม่” ซึ่งลึกๆ แล้วทุกคนน่าจะรู้คำตอบกันดี เพราะเห็นได้ชัดว่าพอ GenAI ได้รับความนิยมมากขึ้น มันช่วยให้มี Productivity เพิ่มขึ้น ทำงานได้มากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น
และเมื่อ AI กลายเป็นเทรนด์สำคัญของโลก ก็ยิ่งทำให้ผู้บริหารองค์กรคาดหวังว่า จะต้องนำมาใช้งานเพื่อสร้างผลกำไรกลับคืนมาสู่องค์กรมากขึ้นด้วย
ดังนั้น หากใครหรือองค์กรไหนที่ใช้งานคล่องแคล่วล่ะก็ ย่อมได้เปรียบกว่าผู้ที่ไม่ใช้หรือใช้งานไม่เป็นแน่นอน
ในงาน SCBX Unlocking AI EP.10 คุณณัฐพล จงจรูญเกียรติ Vice President จากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC มาเล่าถึงกรณีศึกษาของ GC เองที่นำ Generative AI มาใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพในองค์กร ภายใต้หัวข้อ How to Maximize AI Transformation in Corporate from Day 1 to Scale Out
SCBX สรุปสาระสำคัญของเสวนาครั้งนี้มาให้ได้อ่านกันแล้ว ดังต่อไปนี้
- GenAI ที่ GC ใช้งานอยู่นั้น เป็น AI ที่องค์กรสร้างขึ้นมาเองชื่อว่า AskMe GC ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นผู้ช่วยสนทนาของพนักงาน ช่วยพนักงานคิด และช่วยคนในองค์กรสืบค้นข้อมูลอย่างมีระบบ
- อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ไม่ง่ายเลย ต้องอาศัยส่วนผสมของ Vision + Strategy + Objective + Capability + Architecture + Roadmap + Project & Program ที่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญหากปราศจาก Data ที่มีคุณภาพ ก็จะไม่สามารถพัฒนา LLM ตัวนี้ให้ตอบโจทย์องค์กรได้เลย
- ก่อนจะ AskMe GC จะถือกำเนิด องค์กรมีตัวเลือกว่าจะซื้อ GenAI จากที่อื่นมาใช้ หรือจะสร้างขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้น และคำตอบของ GC ก็คือการสร้างขึ้นมาเอง
- คุณณัฐพลกล่าวว่า นี่คือคำถามที่องค์กรที่กำลังอยากนำ AI มาใช้งานต้องคิดเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วนก่อนเสมอ เนื่องจากทางออกแต่ละรูปแบบ มาพร้อมต้นทุนและความได้เปรียบเสียเปรียบที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ และสภาพแวดล้อมในการใช้งาน
- แต่ทุกวันนี้เทรนด์ขององค์กรต่างๆ จะเอนเอียงไปทางการซื้อมาใช้มากกว่า เพราะกังวลว่าหากพัฒนา GenAI เองจะไม่ทันต่อความต้องการของลูกค้า ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกและพฤติกรรมของผู้คน
- สิ่งที่ GC ให้ความสำคัญกับการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible AI) มีอยู่ 5 เรื่องใหญ่ๆ ดังนี้
- Privacy ต้องทำให้แน่ใจว่า AskMe ไม่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน
- Security ยึดมั่นเรื่องความปลอดภัย ก่อนใช้พนักงานต้องผ่านการอบรมและเซ็นสัญญาว่า หากมีกรณีข้อมูลที่เป็นความลับรั่วไหล จะต้องรับผิดชอบอย่างไรบ้าง ซึ่งยังดีที่ปัจจุบันยังไม่เกิดปัญหานี้ขึ้น
- Data ต้องรู้ว่าข้อมูลที่เก็บได้เป็นข้อมูลที่อยู่ในระดับใด ข้อมูลไหนเก็บอยู่ในฐานข้อมูลของ GenAI ได้บ้าง ข้อมูลไหนเป็น Top Secret ที่ห้ามให้ AI เข้าถึงโดยเด็ดขาด
- Hallucination ต้องป้องกันอาการ AI หลอน ด้วยการฝึกให้ AI ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ สามารถบอกได้ว่าข้อมูลแต่ละอย่างนั้นมาจากแหล่งใด เป็นลิขสิทธิ์ของใครอยู่หรือไม่
- Legal ยึดมั่นในการทำตามหลักกฎหมายทุกประการ Data ที่ใช้ต้องถูกลิขสิทธิ์ ถูกกฎหมายเท่านั้น
- คุณณัฐพล กล่าวว่า ทุกวันนี้พนักงานสามารถใช้ AskMe GC ให้ช่วยประมวลข้อมูลในรูปแบบ Text หรือข้อความได้เท่านั้น ยังไม่สามารถใช้สร้างภาพได้ เนื่องจากการสร้างภาพมีความเสี่ยงที่จะนำข้อมูลละเมิดลิขสิทธิ์มาใช้สูงกว่า และแก้ไขยากกว่าเมื่อเทียบกับการประมวลผลเป็นข้อความ
- แต่เมื่อพัฒนา AskMe GC มาถึงขั้นนี้ เขาเชื่อมั่นว่ามันจะช่วยแก้ปัญหาพนักงานของ ปตท. ที่เกษียณพร้อมกัน แล้วไม่มีคนมารับช่วงต่อได้ เพราะข้อมูลทุกอย่างจะอยู่ในระบบอยู่แล้ว การมี GenAI ที่ไว้ใจได้ก็เปรียบเสมือนการมีผู้เชี่ยวชาญประสบการณ์สูง และเราสามารถเรียกใช้งานได้ทันที ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมา
- เมื่อถึงเวลานั้น ปตท. และ GC จะกลายเป็นบริษัท Convergence Tech ที่ใช้ AI อย่างชาญฉลาด เกิด Productivity พร้อมแข่งขันกับองค์กรทั่วโลก และสร้างผลกำไรมหาศาลตามมา โดยไม่ต้องกังวลเรื่องกำลังคนที่ลดน้อยลงอีกต่อไป