งาน SCBX Unlocking AI EP 10: Responsible AI in Action: From Regulation to Real-World Impact
เวลาพูดถึงเรื่องกฎหมายกำกับดูแลการใช้งาน AI หลายคนมักจะนึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะกว่าจะผ่านกฎหมายแต่ละฉบับออกมาได้ต้องใช้เวลานานมาก
อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่มีการบังคับใช้งานจริงจังแล้ว และหากใครนำไปใช้ในทางที่ผิดล่ะก็ อาจต้องขึ้นศาลโดยไม่รู้ตัว
ในงาน SCBX Unlocking AI EP.10 คุณกฤติยาณี บูรณตรีเวทย์ ทนายความและพาร์ทเนอร์จาก Baker McKenzie มาชวนคุยเรื่อง “AI Success Story: Implementing Responsible AI Across Industries Around the Globe” ว่าตอนนี้การกำกับดูแลกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลกมีความเข้มข้นขึ้นมาก และมีหลายกรณีที่น่าสนใจทีเดียว
SCBX สรุปสาระสำคัญของเสวนาครั้งนี้มาให้ได้อ่านกันแล้ว ดังต่อไปนี้
- ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์จากการนำ GenAI มาใช้เกิดขึ้นมากมายหลายกรณี โดยส่วนมากมักจะเป็นการเอาสื่อเช่น เพลง ภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่งของผู้อื่นมาใช้จนเกิดข้อพิพาท โดยคุณกฤติยาณี ยกตัวอย่างกรณีสำคัญที่หลายคนอาจไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น อาทิ
- สการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน นักแสดงสาวชื่อดัง ไม่พอใจที่ OpenAI ผู้สร้าง ChatGPT พยายามสร้าง Chatbot เลียนเสียงของเธอให้เหมือนในหนังเรื่อง her โดยไม่ได้รับอนุญาต
- รัฐเทนเนสซี่ ในสหรัฐอเมริกา ออกกฎหมาย ELVIS Act เพื่อปกป้องศิลปินนักร้องจากการโดนนำเสียง ใบหน้าไปลอกเลียนแบบเพื่อผลประโยชน์อื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต
- ประเทศจีน มีกรณีละเมิดลิขสิทธิ์เยอะมาก เช่น มีคนสร้างสรรค์ภาพวาดหญิงสาวคนหนึ่งด้วย AI ขึ้นมาเอง แต่ภาพนั้นไปคล้ายกับผลงานของคู่กรณีโดยไม่ตั้งใจ นำไปสู่การฟ้องร้อง พิสูจน์ความเป็นเจ้าของผลงานอย่างละเอียดยิบ
- อีกคดีที่น่าสนใจในประเทศจีน คือการฟ้องร้องผู้ที่ใช้ AI ออกแบบซูเปอร์ฮีโร่ที่มีลักษณะคล้าย “อุลตร้าแมน” ขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งแน่นอนว่าเจ้าของลิขสิทธิ์ “อุลตร้าแมน” ตัวจริงไม่ปลื้ม แม้ว่าผู้ที่ออกแบบจะไม่ได้ป้อน Prompt ที่ระบุว่าซูเปอร์ฮีโร่รายนั้นคือ “อุลตร้าแมน” โดนตรงเลยก็ตาม
- ในไทยเองก็มีเรื่องการสร้างภาพโป๊ของบุคคลจริง ผ่าน GenAI กรณีนี้แม้จะไม่ได้มีกฎหมาย AI บังคับใช้โดยเฉพาะ แต่อย่าลืมว่ามีกฎหมายลิขสิทธิ์ และมีกฎหมายพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ห้ามผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ คอยกำกับดูแลอยู่
- สายการบิน Air Canada ประเทศแคนาดา ใช้ Chatbot ช่วยให้คำแนะนำลูกค้าในการซื้อตั๋ว แต่ปรากฏว่าดันแนะนำโปรโมชั่นพิเศษให้ลูกค้า ซึ่งไม่มีโปรโมชั่นนั้นอยู่จริง สายการบินอ้างว่า AI ไม่ใช่พนักงานขององค์กรจึงขอไม่รับผิด แต่ศาลตัดสินว่า Air Canada มีความผิด เพราะถือเป็นหน้าที่ของสายการบินที่ต้องกำกับดูแลให้ Chatbot ให้ข้อมูลลูกค้าตามความเป็นจริง
- อีกคดีเกิดขึ้นกับสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งในรัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อทนายความใช้ GenAI ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับคดีความมาใช้เป็นหลักฐานในการว่าความ แต่ข้อมูลนั้นกลับเป็นคดีที่ไม่มีอยู่จริง ข้อมูลดังกล่าวพาดพิงหลายหน่วยงานจนฟ้องร้องกลับ เป็นผลให้สำนักงานนั้นถูกปรับเงินสูงถึง 5,000 ดอลลาร์ เป็นบทเรียนว่าทนายต้องตรวจเช็คข้อมูล และใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ
- จะเห็นได้ว่า กรณีการฟ้องร้องดังกล่าวเกิดจากการใช้งานอย่างไม่มีความรับผิดชอบหลายกรณี โดยสามารถจัดรูปแบบของการนำไปใช้งานแบบผิดๆ จนมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ดังต่อไปนี้
- การละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านการใช้ข้อมูล หรือข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เสียง, รูปภาพ, ภาพเหมือน มาใช้ในการฝึก AI
- การบิดเบือนข้อมูลเพื่อการทุจริต, เพื่อวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์หรือทางการเมือง เป็นต้น
- การละเมิดความเป็นส่วนตัวและการรักษาความลับ การประมวลผลที่ไม่ได้รับอนุญาต
- การให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ข้อมูลที่ผิด เช่น ให้ข้อมูลผิดพลาดด้วยความประมาทจนสร้างความเสียทางทางร่างกาย และทางทรัพย์สิน เป็นต้น
- การใช้งานอย่างอคติ เลือกปฏิบัติ ไม่คำนึงถึงข้อกังวลทางจริยธรรม
- ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย
- หากต้องการใช้งาน AI ให้ไม่มีปัญหาทางกฎหมาย มี 3 สิ่งที่ทุกคนควรตระหนักเพื่อที่จะได้ใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ (Implement Responsoble AI) ดังนี้
- ต่อให้ไม่มีกฎหมายเรื่อง AI ในไทย แต่หากติดต่อทำการค้ากับต่างประเทศ ต้องดูด้วยว่าในประเทศนั้นๆ เช่น ในยุโรป หรือในอเมริกามีข้อกฎหมายใดบังคับใช้อยู่บ้าง การรู้ตั้งแต่แรกจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง
- จงใช้งานอย่างโปร่งใส ใช้อย่างมีความน่าเชื่อถือ
- ใช้งานด้วยความเป็นธรรม ภายใต้หลักจริยธรรม จรรยาบรรณ
- และถ้าทำได้ทั้ง 3 ข้อนี้ มันจะเป็นเกราะกำบังที่ช่วยปกป้องบริษัทจากปัญหาใดๆ ก็ตามที่อาจเกิดขึ้นได้ตามมา