นับวันโลกยิ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้สามารถชี้ชะตาได้เลยว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร และหากสามารถพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพได้อย่างเข้าเป้าล่ะก็ มันจะช่วยขีดเขียนอนาคตที่สดใสให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales LAB by MQDC ร่วมกันจัดงานเสวนา “Futures of Health and Wellness in Thailand 2033 อนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย 10 ปีข้างหน้า” ณ สยามพารากอน เพื่อคาดการณ์ว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในวันนี้ จะส่งผลต่อโลกอนาคตอย่างไรบ้าง
ในงานนำเสนอเรื่องราวด้านสุขภาพไว้มากมาย แต่ Insiderly.ai ขอสรุปเนื้อหาน่าสนใจที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อ่านได้เลยในบทความนี้
Thailand Health Check สุขภาพเสี่ยงวิกฤติที่เปี่ยมด้วยโอกาส
ก่อนจะไปคาดการณ์ว่า สุขภาพคนและประเทศไทยจะเป็นเช่นไรในอีก 10 ปีข้างหน้า นายแพทย์ปิยะฤทธิ์ อิทธิชัยวงศ์ อาจารย์จากศูนย์สารสนเทศและนวัตกรรมข้อมูลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เริ่มปูพื้นด้วยการเล่าถึง Thailand Health Check หรือสถานการณ์ด้านสุขภาพของคนไทยในปัจจุบันก่อนว่า อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยเพศหญิงจะมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มเป็น 81.05 ปี ส่วนผู้ชายอยู่ที่ 74.92 ปี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี
อีกเรื่องที่ส่งสัญญาณด้านบวกก็คือ คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กเจนซี (Gen Z ) มีความรู้ความเท่าทันด้านสุขภาพมากกว่าคนในวัยอื่นๆ ถึง 2 เท่า นั่นหมายความว่าเขาจะดูแลตัวเองดี และจะเป็นตัวอย่างให้คนในวัยอื่นๆ เอาเยี่ยงเอาอย่างด้วย
แต่สิ่งที่น่ากังวลก็มีหลายอย่าง ถึงแม้เราจะมีอายุยืนนานขึ้น แต่มันบ่งชี้เช่นกันว่า สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว มีเด็กเกิดใหม่น้อยลง ขณะเดียวกันผู้คนก็ต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บทั้งเก่าและใหม่ที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคโควิด-19, โรคติดสุราเรื้อรังที่ล่าสุดมีสถิติว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 20% รวมถึงโรคเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ที่เกิดขึ้นจากฝุ่น PM2.5 เป็นต้น
อีกปัญหาที่นายแพทย์ปิยะฤทธิ์มองว่าสำคัญก็คือ ประเทศไทยยังขาดบุคลากรทางการแพทย์อีกมาก แม้ทุกปีจะมีคนสมัครเรียนหมอเยอะแค่ไหน ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน
“ในประเทศไทย มรอัตราส่วนของแพทย์ 6.5 คน ต่อคนไข้ 10,000 คน แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว อัตราส่วนของแพทย์จะอยู่ที่ 20 คนต่อคนไข้ 10,000 คน และถึงแม้เราจะผลิตแพทย์ได้เยอะ แต่ก็มีแพทย์ที่ทยอยลาออกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องดีเท่าที่ควรครับ เป็นความท้าทายที่เราจะต้องทำให้อัตราสาวนเกิดความสมดุลกว่านี้ให้ได้”
ถึงปัญหาต่างๆ จะรุมเร้าเยอะมาก แต่เขาก็ยังเชื่อมั่นว่า คนไทยจะฝ่าวิกฤติทุกอย่างไปได้แน่นอน หากใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเข้ามาช่วยดูแลสุขภาพมากขึ้น
“เทคโนโลยีในปัจจุบัน มีหลายอย่างที่น่าสนใจและสามารถพัฒนาต่อได้ครับ ตอนนี้สังคมไทยกำลังตื่นตัวกับปัญญาประดิษฐ์อย่าง AI อีกไม่นาน เราจะเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น การเอา AI มาช่วยวิเคราะห์และตรวจพันธุกรรม ซึ่งจะช่วยให้เราทำนายได้ว่า แต่ละคนมียีนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง หรือโรคธาลัสซีเมียหรือไม่ เพื่อจะได้ช่วยป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ และเราสามารถทำ Gene Therapy หรือการเปลี่ยนยีนให้หายขาดจากโรคได้เลยครับ”
นายแพทย์ปิยะฤทธิ์ ยืนยันว่าหากทำได้ตามเป้าที่วางไว้ จะช่วยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับด้าน Medical Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มากขึ้น จะดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมารักษาในประเทศไทย กระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตสูงถึง 7.6 แสนล้านบาท ภายในปี 2570 เลยทีเดียว
คาดการณ์ 10 ปีต่อไป สุขภาพของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับมือเรา
หลังรับรู้สถานการณ์ปัจจุบันด้านสุขภาพของคนไทยไปแล้ว ไฮไลท์ต่อมาของงานคือการเปิดเผยผลการค้นคว้าวิจัยหัวข้อ “Will We Be Well? Tales from the Futures” โดยคุณวิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคตอาวุโส ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales LAB by MQDC มาอธิบายว่า จากการทำนายภาพอนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทยในปัจจุบัน จะส่งผลให้อนาคตในปีพ.ศ. 2576 เป็นอย่างไร โดยมีได้ 5 แบบด้วยกัน ดังต่อไปนี้
1.The Dusk of Healthcare : สิ้นแสงสาธารณสุข
อนาคตแบบนี้ อาจดูสิ้นหวังที่สุดเมื่อเทียบกับแบบอื่นๆ เพราะประเทศไทยจะโดนปัญหารุมเร้าทั้งภายในและภายนอก ซึ่งเกิดขึ้นจากขาดการเตรียมแผนรองรับสุขภาพคนไทยที่ดี ขาดแคลนทรัพยากร ขาดบุคลากร และขาดการบริหารงบประมาณที่ดี ส่งผลให้ท้ายที่สุดระบบสาธารณสุขย่ำแย่และล่มสลาย
2.Public Health Meridian : ระบบสุขภาพทั่วหล้า
อนาคตแบบนี้จะเกิดขึ้นได้หากการขับเคลื่อนระบบในระดับชาติอยู่ในระดับที่ดี โดยมีรัฐบาลเป็นแกนกลางขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการส่งเสริมสุขภาวะให้ประชาชน สนับสนุนให้เกิดความเสมอภาคด้านสุขภาพ ประชาชนไม่เพียงมีความรู้มากขึ้นเรื่องการดูแลตัวเอง แต่ยังมีความหวังว่าชีวิตจะลงเอยในทางที่ดีได้
อย่างไรก็ตาม อนาคตรูปแบบนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่พอสมควร ประชาชนอาจยังเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ไม่ครบถ้วน และถึงแม้รัฐบาลจะมีเจตนารมณ์ที่ดี แต่ก็จะยังขาดความสม่ำเสมอในการแก้ปัญหา
3.Medtech Twilight : ค่ำคืนการแพทย์ขั้นสูง
อนาคตรูปแบบนี้ เกิดขึ้นได้เพราะเทคโนโลยีการแพทย์ที่พัฒนาก้าวหน้า มีการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น AI มาใช้ในการวิจัยและรักษาผู้คนมากขึ้น ไม่เพียงแค่นั้น จำนวนผู้คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยได้ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
แต่อนาคตรูปแบบนี้จะยังมีปัญหาอยู่บ้าง ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะยังไม่หายไป เมื่อคนที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยได้จะต้องอยู่ในเมืองใหญ่เท่านั้น และอาจเกิดปัญหาการใช้นวัตกรรมโดยขาดการคำนึงถึงจริยธรรมที่ดี
4.Dawn of Wellness : รุ่งอรุณสุขภาวะ
ภาพอนาคตนี้จะต่อยอดด้านเทคโนโลยีขึ้นมาอีกขั้น เมื่อประเทศไทยจะสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นำไปสู่การพัฒนาเมือง พัฒนาสังคมได้เต็มที่ และได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้พัฒนานวัตกรรม ไม่ใช่แค่ผู้ใช้นวัตกรรมเท่านั้น
และเมื่อมีเทคโนโลยีที่ดี ก็ส่งผลให้สุขภาวะของคนในสังคมออกมาดี องค์กรของภาครัฐและเอกชนหันมาลงทุนเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจัง ส่งเสริมบริการด้านสุขภาพให้มีความแข็งแรง และส่งให้ประเทศไทยยิ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกในฐานะ Medical Tourism เป็นเป้าหมายของคนทุกชาติว่า ถ้าอยากมีสุขภาวะที่ดี ต้องมาที่นี่เท่านั้น
5.Zenith of Self-care : สุขภาพสุขสมบูรณ์
อนาคตแบบนี้ คือการคาดการณ์ภาพที่ดีที่สุด ประเทศไทยจะพัฒนาจนสมบูรณ์แบบ สามารถดูแลสุขภาพประชาชนผ่านการกระจายอำนาจอย่างสมดุล ผู้คนในพื้นที่ห่างไกลไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาลในเมือง แต่สามารถดูแลรักษาสุขภาพได้ด้วยตัวเอง หรือถ้าต้องการจริงๆ ก็สามารถรับบริการจากสาธารณสุขชุมชนใกล้บ้านได้เลย
“อนาคตทั้ง 5 แบบนี้สามารถเป็นไปได้ทั้งสิ้นค่ะ ขึ้นอยู่กับทุกคนในปัจจุบันแล้วว่า จะช่วยกันผลักดันและขับเคลื่อนให้ออกมาเป็นเช่นไร” คุณวิพัตราทิ้งท้าย